innovation image

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก

หูแม่ค้าทุเรียนเสมือน: แอปพลิเคชันจำแนกความสุกของทุเรียนหมอนทองด้วยปัญญาประดิษฐ์

ทุเรียนเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่มีราคาในตลาดการค้าสูงทั้งในและต่างประเทศ และทุเรียนที่ได้รับความนิยมสูงคือ ทุเรียนสายพันธุ์หมอนทอง โดยทุเรียนสามารถขายได้ตั้งแต่เนื้อดิบ กรอบนอกนุ่มใน และสุก ซึ่งผู้บริโภคมีความชอบที่แตกต่างกัน ผู้ขายและผู้ซื้อสามารถรู้ความสุกได้จากการใช้ไม้เคาะบริเวณเปลือกทุเรียน เนื่องจากเสียงเคาะบริเวณเปลือกของทุเรียนจะมีการเปลี่ยนแปลงตามระดับความสุกของทุเรียน ซึ่งการฟังเสียงเคาะทุเรียนจะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเป็นหลักซึ่งมีอยู่จำกัด ดังนั้นผู้วิจัยจึงได้พัฒนาแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือร่วมกับ Convolutional Neural Network (CNN) สำหรับใช้จำแนกความสุกของทุเรียนจากเสียงเคาะเปลือก โดยแบ่งการทดลองเป็น 2 ขั้นตอน คือ การพัฒนาโมเดลจำแนกความสุกของทุเรียนสายพันธุ์หมอนทองด้วยปัญญาประดิษฐ์ โดยการเก็บข้อมูลเสียงเคาะทุเรียน และนำมาเทรนด้วย CNN ซึ่งจะได้ค่าความแม่นยำร้อยละ 96.20 และการพัฒนาแอปพลิเคชันจำแนกความสุกของทุเรียนหมอนทอง พบว่าแอปพลิเคชันสามารถใช้งานได้ง่าย สามารถบันทึกเสียงจากการเคาะ และให้ผลภายในแอปพลิเคชันได้ โดยมีค่าความแม่นยำที่ร้อยละ 88 ดังนั้นแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นจึงมีความแม่นยำในการจำแนกความสุกของทุเรียน เมื่อเปรียบเทียบกับการทำนายความสุกของแม่ค้า โดยมีความแม่นยำในการทำนายไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (P>0.05) เพิ่มความสะดวกของผู้ค้า และบริโภคทุเรียน ทำให้สามารถเลือกซื้อทุเรียนได้ด้วยตนเองโดยไม่จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการแนะนำ และยังเป็นการลดการพึ่งพามนุษย์ ทำให้สามารถขยายตลาดทุเรียนได้กว้างมากขึ้น จึงสามารถเพิ่มศักยภาพในด้านการผลิต และการจำหน่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ